ต้นทุนการผลิต (cost of production) หมายถึงค่าใช้จ่ายหรือรายจ่ายในปัจจัยการผลิตที่ใช้ในกระบวนการผลิต เนื่องจากปัจจัยการผลิตแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ปัจจัยคงที่ กับปัจจัยผันแปร ดังนั้นต้นทุนการผลิตซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายหรือรายจ่ายในปัจจัยการผลิตจึงแบ่งตามประเภทของปัจจัยการผลิต ออกเป็น 2 ประเภทเช่นเดียวกัน คือ

  1. ต้นทุนคงที่ (fixed cost) หมายถึงค่าใช้จ่ายหรือรายจ่ายในการผลิตที่เกิดจากการใช้ปัจจัยคงที่ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งได้ว่าต้นทุนคงที่เป็นค่าใช้จ่ายหรือรายจ่ายที่ไม่ขึ้นอยู่กับปริมาณของ ผลผลิต กล่าวคือ ไม่ว่าจะผลิตปริมาณมาก ปริมาณน้อย หรือไม่ผลิตเลย ก็จะเสียค่าใช้จ่ายในจำนวนที่ คงที่ ตัวอย่างของต้นทุนคงที่ ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการลงทุนซื้อที่ดิน ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างอาคารสำนักงานโรงงาน ฯลฯ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ตายตัวไม่เปลี่ยนแปลงตามปริมาณการผลิต
  2. ต้นทุนผันแปร (variable cost) หมายถึงค่าใช้จ่ายหรือรายจ่ายในการผลิตที่เกิดจากการใช้ปัจจัยผันแปร หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งได้ว่าต้นทุนผันแปรเป็นค่าใช้จ่ายหรือรายจ่ายที่ขึ้นอยู่กับ ปริมาณของผลผลิต กล่าวคือ ถ้าผลิตปริมาณมากก็จะเสียต้นทุนมาก ถ้าผลิตปริมาณน้อยก็จะเสียต้นทุน น้อย และจะไม่ต้องจ่ายเลยถ้าไม่มีการผลิต ตัวอย่างของต้นทุนผันแปร ได้แก่ ค่าใช้จ่ายที่เป็นค่าแรงงาน ค่าวัตถุดิบ ค่าขนส่ง ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ฯลฯ

             ค่าใช้จ่ายในการผลิตเป็นต้นทุนในการผลิตสินค้าอย่างหนึ่งได้แก่ วัตถุดิบทางอ้อม ค่าแรงงานทางอ้อม ค่าประกันภัยโรงงาน ค่าซ่อมแซมโรงงาน ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ไม่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับผลิตภัณฑ์ นอกจากนั้นยังมีค่าใช้จ่ายในการผลิตบางประเภทที่ไม่อาจคิดโดยตรงกับแผนกต่าง ๆ ได้แก่เงินเดือนผู้ควบคุมโรงงาน ค่าเสื่อมราคาโรงงาน ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ต้องนำมาคิดเป็นต้นทุนของผลิตภัณฑ์โดยการปันส่วน การคิดค่าใช้จ่ายในการผลิตเข้าเป็นต้นทุนผลิตภัณฑ์มีปัญหายุ่งยากหลายอย่าง วิธีเดียวที่ใช้สะดวกและง่าย คือ ใช้อัตราถัวเฉลี่ยซึ่งเรียกว่าเป็นอัตราค่าใช้จ่ายในการผลิต

            วิธีหาอัตราค่าใช้จ่ายในการผลิตวิธีหนึ่งก็คือ  รวบรวมค่าใช้จ่ายในการผลิตที่เกิดขึ้นจริงในงวดหนึ่งหารด้วยปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงของค่าใช้จ่ายในการผลิตมากที่สุด เช่น ใช้ชั่วโมงแรงงานมากมีผลให้จ่ายค่าใช้จ่ายในการผลิตรายการต่าง ๆ ไปมาก ก็ใช้จำนวนชั่วโมงแรงงานหารค่าใช้จ่ายในการผลิตหรือถ้าเห็นว่ายิ่งใช้เครื่องจักรเดินเครื่องมากขึ้นยิ่งทำให้จ่ายค่าใช้จ่ายมากขึ้น ก็นำเอาชั่วโมงเครื่องจักรมาเป็นตัวหารค่าใช้จ่ายในการผลิต จะได้อัตราค่าใช้จ่ายในการผลิตต่อชั่วโมงแรงงานหรือต่อชั่วโมงเครื่องจักร