หลักการพื้นฐานการวางแผนและควบคุมการผลิต
(Principle of Production Planning and Control)

หลักการวางแผนและควบคุมการผลิต ที่ดีคือ ความสามารถในการประสานวัตถุประสงค์ที่ขัดแย้งกันของโรงงาน ซึ่งวัตถุประสงค์ดังกล่าวประกอบด้วย

1. ระดับการให้บริการลูกค้าสูงสุด(การส่งมอบสินค้าตามกำหนด)
2. การปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพด้านโรงงาน(มีความสูญเสียด้านแรงงานและเครื่องจักรน้อย)
3. การลงทุนในของคงคลังต่ำ(มีการถือครองของคงคลังเท่าที่จำเป็น)

วัตถุประสงค์ทั้ง 3 ประการ ดังกล่าวข้างต้นคือ สิ่งที่ผู้บริหารฝ่ายผลิตจะต้องใช้ความพยายามในการจัดการระบบการผลิตให้บรรลุผลทุกประการ แต่โดยธรรมชาติแล้ววัตถุประสงค์ทั้ง 3 มีความขัดแย้งซึ่งกันและกัน กล่าวคือ ถ้าเราต้องการให้ต้นทุนด้านการลงทุนของคงคลังต่ำ เราจำเป็นจะต้องผลิตในปริมาณน้อยๆหรือเท่าที่จำเป็น แต่การดำเนินการดังกล่าวจะอาจจะส่งผลให้เราต้องดำเนินการผลิตสินค้ารายการเดียวกันหลายๆครั้ง ซึ่งในแต่ละครั้งอาจจะต้องเสียเวลาในการเตรียมการผลิต ทำให้ประสิทธิภาพของเครื่องจักรลดลง ทั้งนี้เพราะต้องสูญเสียเวลาไปกับเวลาตั้งเครื่องมากขึ้น แต่ก็อาจส่งผลให้มีสิ้นค้าส่งมอบทันกำหนดมากขึ้น ในบางสภาพแวดล้อมของการแข่งขันทางธุรกิจ ธุรกิจจะต้องสามารถส่งมอบสินค้าในช่วงเวลาสั้นๆหรือเร็วที่สุดภายหลังจากได้รับใบสั่งจากลูกค้า กรณีดังกล่าวนี้อาจทำให้ธุรกิจจำเป็นต้องถือครองสินค้าคงคลังไว้ในปริมาณที่มากขึ้นเพื่อให้มั่นใจในศักยภาพการตอบสนองความต้องการของลูกค้า จากที่กล่าวมาข้างต้นนี้พอจะมองเห็นได้ว่า ในการตัดสินใจด้านการวางแผนและควบคุมการผลิตจึงจำเป็นจะต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับวัตถุประสงค์ตามที่กล่าวมานี้ และจะต้องพยายามทำให้ผลลัพธ์โดยรวมของวัตถุประสงค์ทั้ง 3ประการดีที่สุด ในการตัดสินใจเกี่ยวกับการวางแผนและควบคุมการผลิตซึ่งจะส่งผลต่อวัตถุประสงค์โดยรวมตามที่กล่าวมาแล้วได้ดีเพียงไรนั้น ผู้บริหารจะต้องค้นหาคำตอบจากคำถาม(ที่เป็นต้นเหตุพื้นฐานของความมีประสิทธิภาพหรือไม่มีประสิทธิภาพ 2 ประการ ดังต่อไปนี้

1. เราควรจะทำอะไรต่อไป ? ซึ่งประกอบด้วยคำถามย่อยๆดังนี้ คือ จะผลิตอะไร? จำนวนเท่าไหร่? และ เมื่อไหร่?
2. เรามีขีดความสามารถที่จะทำมันได้หรือไม่?(มีกำลังการผลิตเพียงพอหรือไม่?)

ทั้ง 2 คำถามเป็นคำถามเกี่ยวกับลำดับความสำคัญและกำลังการผลิต (Priorities and Capacities) ลำดับความสำคัญ ( Priorities ) จะเกี่ยวข้องกับความหมายที่ว่า เมื่อไหร่จึงจำเป็นต้องใช้ชิ้นส่วนนี้ หรือผลิตภัณฑ์นี้ วันที่ต้องการนี้ ก็จะกลายเป็น วันกำหนดส่งที่จะถูกใช้ในการจัดลำดับให้กับใบสั่งงานแต่ละใบ สำหรับกำลังการผลิต ( Capacity ) เป็นการอธิบายถึงปริมาณงานที่สามารถจะปฏิบัติได้ โดยกำลังการผลิตนี้จะสัมพันธ์กับคนและเครื่องจักร และโดยทั่วๆ ไปจะจัดกำลังการผลิตในรูปของชั่วโมงการทำงานของหน่วยผลิต ดังนั้น การวางแผนและควบคุมการผลิตจึงเป็นการเน้นเรื่องการวางแผนและควบคุมลำดับความสำคัญในการทำงานและกำลังการผลิต การวางแผนการผลิตจะต้องมาก่อนการวางแผนกำลังการผลิตซึ่งก็คือ การวางแผนลำดับความสำคัญของการทำงาน และตามด้วยการวางแผนกำลังการผลิต หลังจากนั้นในระหว่างการปฏิบัติงานตามแผนก็จะต้องทำการควบคุมลำดับความสำคัญและกำลังการผลิต ในบางสภาพแวดล้อมของการผลิต การวางแผนการผลิตและการวางแผนกำลังการผลิตอาจจะต้องพิจารณาไปพร้อมๆกัน แต่ในบางสภาพแวดล้อมอาจจะต้องทำไปที่ละขั้น

การบริหารวัสดุคงคลัง ( InventoryManagement)

จุดประสงค์ของการบริหารวัสดุคงคลังก็เพื่อให้แน่ใจว่า     สินค้าแต่ละประเภทและแต่ละแบบจะมีอยู่อย่างเพียงพอที่จะตอบสนองต่อ ความต้องการของลูกค้า    อย่างไรก็ตามความต้องการของบริษัทนั้นต้องการให้บรรลุวัตถุประสงค์ดัง กล่าว   โดยใช้เงินลงทุนเกี่ยวกับวัสดุคงคลังให้น้อยที่สุด   ด้วยเหตุนี้การบริหารวัสดุคงคลังจึงต้องเข้า มาเกี่ยวข้องกับการวางแผนและควบคุมการผลิต  ทั้งนี้เพราะจะต้องมีการประสานงานกันระหว่างยอด ขายสินค้าชนิดต่าง ๆ ที่บริษัทคาดไว้    กับระดับการผลิตและระดับวัสดุคงคลังของบริษัท    การควบคุม วัสดุคงคลังนี้มักจะรวมอยู่ในฝ่ายของการวางแผนและควบคุมการผลิต

                หน้าที่การบริหารวัสดุคงคลัง ไม่ใช่จะครอบคลุมเฉพาะแต่เพียงสินค้าสำเร็จรูปเท่านั้น   แต่จะใช้กับวัตถุดิบ  ชิ้นส่วนที่ซื้อจากภายนอก และงานระหว่างผลิต (Word-in-process)   ในโรงงานด้วย ในการวางแผนและควบคุมวัสดุคงคลังแต่ละประเภทนั้น   จะพยายามทำให้ความเสี่ยงที่เกิดจากการมีวัสดุ คงคลังน้อยเกินไป (อาจจะทำให้วัสดุคงคลังขาดแคลน)  และค่าใช้จ่ายในวัสดุคงคลังที่มีมากเกินไป มีความสมดุลย์กัน ภายในระบบของการผลิต  แนวคิดในการบริหารวัสดุคงคลัง สามารถจำแนกได้ เป็น 3 ระบบ คือ ระบบแรกเรียกว่า ระบบจุดสั่งใหม่ ระบบนี้จะสั่งเมื่อถึงจุดสั่ง และสั่งตามเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้  รบบที่ 2 เรียกว่า ระบบการวางแผนความต้องการวัสดุ(MRP) แนวคิดในการสั่งของระบบนี้คือ สั่งเมื่อมีความต้องการ และสั่งเท่ากับจำนวนที่ต้องการ ส่วนระบบสุดท้าย คือ ระบบ ทันเวลาพอดี(JIT)  ระบบนี้จะเน้นการปฎิบัติงานจริง มีขนาดรุ่น การสั่งผลิตน้อย การผลิตจะเริ่มขึ้นเมื่อมีการนำชิ้นส่วนที่หน้าหน่วยผลิตดังกล่าวไปใช้งาน ระบบทันเวลาพอดีจะให้ความสำคัญกับการขจัดความสูญเสีย และการผลิตสมำเสมอ   การนำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ ได้มีส่วนช่วยให้วัตถุประสงค์ของการบริหารวัสดุคงคลัง  บรรลุผลสำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

การวางแผนความต้องการกำลังการผลิต (Capacity Requirements Planning)

MRP  จะเกี่ยวข้องกับการวางแผนวัสดุ และชิ้นส่วนประกอบ  ส่วนการวางแผนความต้องการกำลังการผลิต จะเกี่ยวข้องกับการคำนวณหากำลังการผลิตของเครื่องจักร และ แรงงานที่ต้องการ ในการผลิตชิ้นส่วนให้เสร็จตามจำนวนและกำหนดเวลาที่ได้กำหนดไว้ในทุกขั้นตอนของการผลิต โดยหลักการของการวางแผนความต้องการกำลังการผลิตก็คล้ายกับการวางแผนกำลังการผลิตขั้นต้น เพียงแต่ในการวางแผนความต้องการกำลังการผลิตจะคำนวณทุกหน่วยผลิตที่ชิ้นส่วนหรือวัสดุทุกรายการต้องผ่าน ส่วนการวางแผนกำลังการผลิตขั้นต้นจะคำนวณกำลังการผลิตที่ต้องการเฉพาะจากหน่วยผลิตที่สำคัญเท่านั้น  แผนการออกใบสั่งผลิตจากระบบ MRP จะมีความเชื่อถือได้มากยิ่งขึ้นเมื่อได้ผ่านการกลั่นกรองด้านกำลังการผลิตว่ามีเพียงพอต่อความต้องการวัสดุที่จะต้องทำการผลิต

การควบคุมกิจกรรมการผลิต ( Production Activity Control)

การควบคุมกิจกรรมการผลิต(Production Activity Control) หรืออีกชื่อหนึ่งที่รู้จักกันก็คือ การควบคุมการผลิตระดับโรงงาน(Shop Floor Control)    เป็นขั้นตอนที่เชื่อมต่อระหว่างกิจกรรมด้านการวางแผน การผลิต  และกิจกรรมด้านการปฎิบัติงานผลิตในโรงงาน   ซึ่งภายหลังจากรับข้อมูลใบสั่งผลิตชิ้นส่วน ต่าง ๆ จากระบบ การบริหารวัสดุคงคลังแล้ว   ในส่วนที่ต้องดำเนินการต่อไป  ของระบบการควบคุมการผลิตระดับ โรงงาน    ประกอบด้วยหน้าที่หลัก  ดังนี้คือ    การกำหนดตารางการผลิต (Production Scheduling)  การส่งงานเข้าสู่ช่วงการผลิต (Dispatching)  และ การเร่งงาน (Expedition)  นอกจากหน้าที่ดังกล่าว แล้ว  การควบคุมการผลิตระดับโรงงาน   ยังครอบคลุมถึงการติดตามสถานะของกิจกรรมการผลิตใน โรงงาน  และการจัดทำรายงานสถานะเหล่านั้นเสนอให้กับผู้บริหาร  เพื่อดำเนินการสั่งการให้การผลิต ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ

การควบคุมการจัดซื้อ  (Purchasing Control)

ในการผลิตผลิตภัณฑ์ของบริษัทนั้น    ชิ้นส่วนบางชิ้นบริษัทอาจจะตัดสินใจผลิตขึ้นเองในโรงงาน ในขณะที่ชิ้นส่วนบางชิ้นบริษัทต้องสั่งซื้อจากภายนอก   การตัดสินใจเกี่ยวกับทางเลือกทั้งสองนั้น คุ้นเคยกันในชื่อของ  การตัดสินใจผลิตหรือซื้อ (‘make of buy’ decesion)     สำหรับชิ้นส่วนที่จะทำ การผลิตขึ้นเองนั้น วัตถุดิบที่ต้องการใช้จะต้องถูกสั่งเข้ามา  การสั่งซื้อวัตถุดิบและสั่งซื้อชิ้นส่วนต่าง ๆ เป็นหน้าที่ของฝ่ายจัดซื้อ  การสั่งซื้อและการรับวัสดุต่างๆ ที่ทำการสั่งซื้อนั้นจะต้องควบคุมให้มีการส่งมอบตามกำหนดเวลาที่กำหนดขึ้นระหว่างการวางแผนการสั่งซื้อวัสดุ